วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน

ภาพรวมพื้นที่ดินของประเทศไทย

ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมด 320.7 ล้านไร่ ในปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าประมาณ 50 % พื้นที่ใช้ประโยชน์อย่างอื่นประมาณ 50 % ของประเทศ จากนั้นมีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติมของราษฎร จนกระทั้ง พ.ศ. 2549 พื้นที่ ป่าลดลงเหลือเพียง 33 % ส่วนพื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40 % ของประเทศ โดยมีจำนวนแปลงที่ดินเกษตรกรรม 5,795,541 แปลง ขนาดของฟาร์มโดยเฉลี่ย 22.48 ไร่/ครัวเรือน

ประเภทของที่ดิน

1. ที่ดินของรัฐ
- ที่สาธารณะ
- ที่ดินเพื่อใช้ในราชการ
- ที่ดินรกร้างว่างเปล่า
2. ที่ดินบางประเภทที่มีกฎหมายเฉพาะดูแล เช่น ที่ป่าไม้ ที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ดินการรถไฟ ที่ดินกรมศิลปากร ที่ดินการท่าเรือ ที่ดินวัด และของศาสนาอื่นๆ
3. ที่ดินเอกชน

การจัดการที่ดินในอดีต

วิวัฒนาการมา ตั้งแต่สมัยสุโขทัยซึ่งสมัยนั้น ให้เสรีภาพในการประกอบอาชีพตามความสามารถ ราษฎรสามารถก่นถางที่ดินทำประโยชน์ และเป็นสิทธิของคนผู้นั้น แต่เมื่อตายลงก็ตกแก่ทายาท ระบบสิทธิ จึงเป็นการจับจองและการเข้าครอบครองเพื่อทำประโยชน์ มาถึงสมัย กรุงศรีอยุธยา กฎหมายอนุญาต ให้ราษฎร สามารถเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินได้โดยเสรี แต่ให้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่เพื่อจะได้ออกโฉนดให้ไว้เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ต่อมาเมื่อสมัยรัชการที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงไป จากการผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองมาเป็นการผลิตเพื่อทำการค้า ได้มีการทำสัญญาทางการค้ากับต่างประเทศ คือ สนธิสัญญาบาวริ่ง ในปี พ.ศ. 2398 และมีการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ ของประเทศ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูปการปกครอง และขยายการค้ากับต่างประเทศ โดยมีข้าวเป็นสินค้าออกที่สำคัญ ในช่วงนี้ได้มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับราษฎรเพื่อเป็นหลักฐานในการถือครองที่ดิน ตามประกาศออกโฉนดที่ดินที่ ร.ศ.120 โดยมีการเดินรังวัดออกโฉนดที่ดินแบบใหม่เรียกว่า Torrens System เท่ากับเป็นการแบ่งแยกสิทธิที่ดินระหว่างรัฐและเอกชน จากนั้นในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 ได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับที่ดินอีกหลายฉบับ และมีการประกาศยกเลิกโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพุทธศักราช 2497 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พุทธศักราช 2497 สิทธิในที่ดินจึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่เกี่ยวข้อง

แนวนโยบายด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มาตรา 85)
(1) กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยให้คำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งผืนดิน ผืนน้ำ วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดมาตรฐานการใช้ที่ดิน อย่างยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินนั้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย
(2) กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดย การ ปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมแก่เกษตรกร
(3) จัดให้มีการวางผังเมือง พัฒนา และดำเนินการตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
(4) จัดให้มีแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างอื่นอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างสมดุล
(5) ส่งเสริม บำรุงรักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน

กฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน

- ประมวลกฎหมายที่ดิน จะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการที่ดินเพื่อประชาชน การกำหนดสิทธิในที่ดิน การรังวัดที่ดิน การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การกำหนดสิทธิในที่ดินเพื่อการศาสนา การกำหนดสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าว การกำหนดสิทธิในที่ดินของนิติบุคคลบางประเภท และการค้าที่ดิน
- พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 เป็นพระราชบัญญัติที่มีการจัดที่ดินของรัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในเขตที่ดินนั้น โดยออกพระราชกฤษฎีกาและมีแผนที่กำหนดแนวเขตที่ดินจัดตั้งเป็น
• นิคมสร้างตนเอง ดำเนินการโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
• นิคมสหกรณ์ ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์
- พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เป็นพระราชบัญญัติที่มุ่งเน้นการปรับปรุงสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม รวมถึงที่อยู่อาศัย โดย ส.ป.ก. นำที่ดินของรัฐจัดซื้อ หรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ หรือมีที่ดินเกินสิทธิที่กำหนดมาจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่พอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่า หรือเข้าทำประโยชน์
- พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 เป็นพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้ที่ดินในเขตเมือง เพื่อสร้างหรือพัฒนาเมืองขึ้นใหม่หรือแทนเมืองหรือส่วนของเมืองที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้มีสิ่งที่ดียิ่งขึ้น ถูกสุขลักษณะ มีความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน และสวัสดิภาพของสังคม
- พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 เป็นพระราชบัญญัติเพื่อการพัฒนาที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั่วถึงที่ดินทุกแปลงเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตโดยทำการรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกัน เพื่อวางผังจัดรูปที่ดินเสียใหม่ การจัดระบบชลประทานและการระบายน้ำ การจัดสร้างถนน หรือทางลำเลียงในไร่นา การปรับระดับพื้นดิน
- พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ พ.ศ.2547 จะเป็นพระราชบัญญัติการพัฒนาที่ดินหลายแปลง โดยการวางผังจัดรูปที่ดินใหม่ปรับปรุงหรือจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการร่วมรับภาระและกระจายผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม โดยความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือเอกชนกับรัฐ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เหมาะสมยิ่งขึ้นทั้งด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชน และเป็นการสอดคล้องกับการผังเมือง
- พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 เป็นพระราชบัญญัติที่สำรวจ จำแนก และสำมะโนที่ดิน เพื่อทราบความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และความเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การวางแผนการใช้ที่ดิน การกำหนดบริเวณการใช้ที่ดิน และกำหนดมาตรการเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การป้องกันการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อดิน หรือทำให้สภาพที่ดินเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
- พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 เป็นพระราชบัญญัติปกครองดูแลรักษาดินของรัฐประเภทที่ราชพัสดุ ให้เป็นไปโดยมีระเบียบและหลักเกณฑ์ที่แน่นอน โดยให้กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการนี้ เพื่อประหยัดและขจัดปัญหางานซ้ำซ้อนกัน
- พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็น พ.ร.บ.ที่ควบคุมการก่อสร้างอาคารเพื่อความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกจราจร
- พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม กำหนดอัตราค่าเช่าขั้นสูง วินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าเช่า ข้อพิพาทอื่นหรือค่าเสียหายอันเกิดจากการเช่า กำหนดระยะเวลาการเช่าให้มีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่า 6 ปี
- พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 จะเป็น พ.ร.บ. ที่รองรับการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในระยะยาว ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมบางประเภท ที่ต้องมีการลงทุนในระยะยาวและต้องการความมั่นคงของสิทธิตามสัญญาเช่า
- พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 เป็น พ.ร.บ.ควบคุมการจัดสรรที่ดิน กำหนดมาตรการในการคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและการกำหนดให้ผู้รับผิดชอบบำรุงรักษาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ กระจายอำนาจการอนุญาตและการควบคุมดูแลการจัดสรรที่ดินไปสู่ระดับจังหวัด และกำหนดเวลาในการพิจารณาอนุญาตให้แน่นอน
- พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 เป็น พ.ร.บ.ควบคุมการให้การขุดดินและการถมดินเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ ป้องกันอันตรายแก่ทรัพย์สินและความมั่นคงปลอดภัย ของประชาชนในเขตเทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อื่นตามที่กฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้นบริเวณที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เขตผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและท้องที่อื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศและกำหนด

สิทธิในที่ดิน

สิทธิในที่ดินตามบทบัญญัติมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หมายความว่า “กรรมสิทธิ์และให้หมายความรวมถึงกรรมสิทธิ์ครอบครองด้วย”
สิทธิในที่ดินนั้นอาจจะจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. กรรมสิทธิ์บริบูรณ์ คือกรรมสิทธิ์ที่ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
2. กรรมสิทธิ์ที่มีเงื่อนไข ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน ที่ได้ไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน และ พรบ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ในช่วงห้ามโอน หรือตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ที่ห้ามโอนสิทธิที่ได้รับจากการ ปฏิรูปที่ดิน เว้นแต่ ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปให้สถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก.
3. การให้สิทธิทำกิน หรือการให้สิทธิประโยชน์ในที่ดินตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ในรูปสิทธิที่ดินทำกิน (สทก.) หรืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ป.ก.4-01)



ภาพที่ 1 แสดงการจัดสิทธิที่ดินในปัจจุบันจนไปถึงการจัดสิทธิที่ดินในอนาคต

สิทธิในที่ดินที่แตกต่างกัน แยกตามประเภทของเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกโดยหน่วยงานต่างๆนั้น (ตามตารางที่ 1) จะเห็นความแตกต่างในการจำหน่ายจ่ายโอน การจำกัดเวลาในการโอน การครอบครองปรปักษ์ และความสามารถที่จะใช้ในการประกันเงินกู้จากสถาบันการเงิน


ตารางที่ 1
หมายเหตุ 1) 5 ปี กรณีโฉนด หรือ น.ส.3 ที่ออกตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ควบคู่กับประมวลกฎหมายที่ดิน 10 ปีในกรณีที่โฉนดหรือ น.ส.3 ที่ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน


จะเห็นว่าโฉนดที่ดิน เป็นเอกสารที่ดีที่สุด ที่ให้สิทธิที่สมบูรณ์ และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้ ในขณะที่น.ส.3 และ น.ส.3 ก. ก็สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้ แต่สิทธิบางอย่างจำกัดกว่าโฉนด ส่วนเอกสารซึ่งไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ตามกฎหมายได้ ยกเว้น กรณีตกลงกันเป็นพิเศษ (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 2529 : 138)
จากความแตกต่างของสิทธิในที่ดินดังกล่าวเกิดจากการได้รับสิทธิในที่ดินจากเงื่อนไขของกฎหมายคนละฉบับ การเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกัน และจุดประสงค์ของรัฐที่ต้องกาอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และดินไม่ให้ถูกบุกรุกทำลายมากเกินไป น่าจะเป็นที่เข้าใจได้ แต่ผู้ที่อยู่อาศัย แต่ผู้ที่อยู่อาศัย ที่ทำประโยชน์ในที่ดินประเภทต่างๆ ก็มีความต้องการเอกสาร
สิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ประเด็นความแตกต่างของสิทธิที่ดินนี้ จึงมีแนวคิดว่าควรมีสิทธิในที่ดินเพียงประเภทเดียวเพื่อให้ผู้ถือครองทำประโยชน์ในที่ดินที่มีความเท่าเทียมกัน และใช้กฎหมายฉบับเดียวกันในการจัดการการดูและและใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้เป็นมาตรฐานเดียว ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะต้องแก้ไขปัญหาต่างๆลุล่วงเสียก่อน เป็นต้นว่า การแบ่งแยกพื้นที่ให้ชัดเจนระหว่างพื้นที่ดินที่จะอนุรักษ์ หรือสงวนไว้ใช้ และที่ดินที่จะให้ประชาชนครอบครองได้ แนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สอดคล้องกับสมรรถนะที่ดิน ผังเมือง และระบบภาษีที่เอื้ออำนวยให้สังคมได้ประโยชน์จากผู้ที่ครอบครองการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นต้น

หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน

ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้แก่
ใบจอง (น.ส.2) หมายความถึง หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราวเป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ทางราชการออกให้เนื่องจากการจับจองตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ยังไม่ให้สิทธิ์ครอบครองในที่ดินโดยสมบูรณ์ เพราะเป็นการอนุญาตให้ผู้จับจองที่ดินเข้าทำประโยชน์เป็นการชั่วคราว หากเห็นว่าผู้ที่เข้าครอบครองทำประโยชน์นั้นไม่ได้ทำประโยชน์ภายในเวลาที่กำหนด หรือเข้าทำประโยชน์แล้วทำประโยชน์ไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ทางราชการก็จะให้ผู้นั้นหมดสิทธิ์ในที่ดินและจะนำไปจัดให้บุคคลอื่นต่อไป ผู้มีชื่อในใบจองจึงยังไม่ใช่เจ้าของ จะนำไปจดทะเบียนขายไม่ได้ จำนองไม่ได้ เว้นแต่การโอนทางมรดก เมื่อทำประโยชน์ในใบจองเสร็จนำไปออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้แล้วแต่กรณี สำหรับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกจากใบจองต้องห้ามโอนภายใน 10 ปี (บางกรณีห้ามโอนภายใน 5 ปี หรือไม่ให้โอนเลย)
1. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หมายความถึง หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วมีเพียงสิทธิ์ครอบครอง (ไม่มีกรรมสิทธิ์) มีทั้งหมด 3 แบบ คือ
• แบบ น.ส. 3 เป็นแบบธรรมดาออกได้ในพื้นที่ทั่วไป รูปแผนที่ใน น.ส. 3 เป็นแผนที่รูปลอย มีการยึดโยงเหมือนกันแต่เป็นการยึดโยงกับถาวรวัตถุหรือสิ่งอื่นที่พอจะหาได้ในบริเวณนั้น เช่น ต้นไม้ยืนต้นที่สภาพไม่แน่นอนการหาตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินจึงไม่แน่นอนยากต่อการตรวจสอบการจดทะเบียนนิติกรรมแต่ละครั้งจึงต้องทำการประกาศ
• แบบ น.ส. 3 ก. ออกได้เฉพาะในพื้นที่ที่ได้สร้างระวางรูปถ่ายทางอากาศแล้วเท่านั้น รูปแผนที่สามารถยึดโยงได้กับระวาง มีตำแหน่งแน่นอนไม่เหมือนกับแบบ น.ส. 3 ข้อจำกัดของแบบ น.ส. 3 ก. ก็คือ ออกไม่ได้ทุกพื้นที่ พื้นที่ใดที่ยังไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศจะออก น.ส. 3 ก. ไม่ได้
• น.ส.3 ข ออกในท้องที่ที่ไม่มี ระวางรูปถ่ายทางอากาศ และรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการ ตามประมวลกฏหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอแล้ว (เจ้าพนักงานที่ดิน เป็นผู้ออก)

2. ใบไต่สวน (น.ส.5) หมายความถึง หนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน และให้หมายความรวมถึง ใบนำด้วย ก่อนที่จะออกโฉนดที่ดินทุกครั้งจะต้องทำใบไต่สวนขึ้นก่อนทุกครั้ง เพราะใบไต่สวนเป็นแบบการสอบสวน เหตุที่กฎหมายกำหนดให้ใบไต่สวนเป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ที่ดินและให้จดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมในใบไต่สวนได้เช่นเดียวกับโฉนดที่ดินก็เพราะ เมื่อสมัยก่อนนั้น การที่กรมที่ดินได้ดำเนินการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ใดแล้ว เจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจะนำเรื่องการออกโฉนดที่ดินทั้งหมดกลับมาที่กรมที่ดินเพื่อเขียนโฉนดแล้วนำไปแจกโฉนดที่ดินให้ราษฎรภายหลัง บางครั้งใช้เวลาเป็นปี ๆ ทำให้ราษฎรเดือดร้อนเพราะจะทำการโอนที่ดินหรือนำที่ดินไปจดทะเบียนสิทธิ์อื่นไม่ได้ เช่น จำนองเพื่อประกันการกู้ยืมเงิน เป็นต้น กฎหมายจึงกำหนดให้ใบไต่สวนเป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่จะจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมใด ๆ ได้เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน ดังนั้น เมื่อทางราชการได้ไปทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ใดทางราชการจะแจกใบไต่สวนให้ราษฎรยึดถือไว้ก่อนจนกว่าจะได้ออกโฉนดที่ดินแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ใบไต่สวนมีบทบาทน้อยมาก เพราะเมื่อทางราชการไปทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ใดได้เตรียมการออกโฉนดที่ดินไว้พร้อมที่จะแจกโฉนดที่ดินให้ราษฎรได้ก่อนที่จะกลับ ทางปฏิบัติจึงแจกใบไต่สวนพร้อมทั้งแจกโฉนดที่ดินไปในคราวเดียวกัน ส่วนใบนำก็เช่นเดียวกับใบไต่สวน กล่าวคือ เมื่อเจ้าหน้าที่ไปเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินให้เจ้าของที่ดินไปนำทำการเดินสำรวจ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนเสร็จแล้วก็ออกใบนำให้เจ้าของที่ดินไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้น ก่อนออกโฉนดที่ดินบางสมัยก็ออกใบไต่สวน บางสมัยก็ออกใบนำจึงจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมต่าง ๆ ในใบนำได้ ปัจจุบันใบนำไม่มีออก ที่เหลืออยู่ก็ส่วนน้อยและค่อย
3. โฉนดที่ดิน (น.ส.4, น.ส. 4 ก. ฯลฯ) หมายความถึง หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้หมายความรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว
• โฉนดที่ดิน ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน การที่จะออกโฉนดที่ดินได้จะต้องเป็นท้องที่ที่ได้สร้างระวางแผนที่หรือระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศแล้วเท่านั้น ถ้าไม่มีจะออกโฉนดที่ดินไม่ได้ ตำแหน่งของโฉนดที่ดินแต่ละแปลงที่ออกให้สามารถหาตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินได้แน่นอน เพราะมีการยึดโยงกับระวางได้ ซึ่งระวางดังกล่าวสร้างจากศูนย์กำเนิด ปัจจุบันศูนย์กำเนิดของระวางที่ใช้อยู่มี 29 ศูนย์

• โฉนดแผนที่ ออกตามประกาศออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2445) ซึ่งโฉนดที่ดินฉบับแรกออกที่อำเภอบ้านแป้ง อำเภอพระราชวัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันคืออำเภอบางปะอิน ต่อมาได้ออกเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) เหตุที่เรียกโฉนดแผนที่เพราะโฉนดที่ออกมีแผนที่ด้วย ซึ่งแตกต่างจากโฉนดที่แบบเดิมซึ่งไม่มีแผนที่ เช่น โฉนดสวน โฉนดป่า (เพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษี) วิธีการออกโฉนดแผนที่เหมือนกับการออกโฉนดที่ดินทุกประการ หรือจะกล่าวว่าโฉนดแผนที่ก็คือโฉนด
• โฉนดตราจอง ออกตามพระราชบัญญัติออกตราจองชั่วคราว ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2446) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2449) ออกในมณฑลพิษณุโลก คือ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุดรดิตถ์ และสุโขทัย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดทำให้โฉนดตราจองตกอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์บางส่วน ปัจจุบันไม่มีออก (เพราะ พ.ร.บ. ออกโฉนดตราจอง ร.ศ. 124 ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497) จะออกใหม่ก็เฉพาะออกเนื่องจากการแบ่งแยกโฉนดตราจองเดิม แต่ปัจจุบันกรมที่ดินไม่ได้พิมพ์แบบพิมพ์โฉนดตราจองแล้ว จึงให้นำแบบพิมพ์โฉนดที่ดินมาใช้แทนแล้วประทับตราว่า “โฉนดตราจอง” โฉนดตราจองเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน จึงจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับ
• ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ออกตราพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 479 ออกได้ทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดพื้นที่ เช่น โฉนดตราจอง เดิมได้มีการออกตราจองที่เป็นใบอนุญาต เจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้ออกเมื่อทำประโยชน์เสร็จแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินจะออกตราจอง “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ให้ ปัจจุบันไม่มีออก (เพราะ พ.ร.บ. ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2479 ถูกยกเลิก โดย พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497) จะออกใหม่ก็เฉพาะออกเนื่องจากการแบ่งแยกตราจองฯ เดิม แต่ปัจจุบันกรมที่ดินไม่ได้พิมพ์แบบพิมพ์ตราจองฯ แล้ว จึงให้นำแบบพิมพ์โฉนดที่ดินมาใช้แทน แล้ว ประทับตราว่า “ตราจอง” เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับโฉนดที่ดินจึงจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับโฉนด
เอกสารสิทธิที่ราชการออกให้ (เอกสารสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินรัฐแบบมีเงื่อนไข)
หนังสือทั้ง 4 ประเภทนี้ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ผู้ที่มีแบบ ก.ส.น. 5 ก็ดี น.ค.3 ก็ดี จะต้องไปขอออกหนังสือรับรองทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินแล้วแต่กรณี ซึ่งเมื่อออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวแล้วจะต้องห้ามโอน 5 ปี รายละเอียด ดังนี้

ภ.บ.ท. 5 เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่
ก.ส.น.5 เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้ในนิคมสหกรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511
น.ค. 3 เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้ในนิคมสร้างตนเอง ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511ส.ท.ก. เป็นหนังสือสิทธิทำกินในเขตป่าไม้ ซึ่งทางกรมป่าไม้เป็นผู้ออกให้
ส.ป.ก เป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวมตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือ มีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532


• หนังสือแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5)
เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ ความหมายของที่ดิน ใน ภ.บ.ท. 5 หมายความว่า พื้นที่ดินและให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่เป็นภูเขาหรือที่มีน้ำด้วย (มาตรา 6) ซึ่งมีข้อยกเว้น ตาม (มาตรา 8) เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องถิ่น สำหรับที่ดินต่อไปนี้
1) ที่ดินที่เป็นที่ตั้งพระราชวังอันเป็นส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
2) ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่ดินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะ โดยมิให้หาผลประโยชน์
3) ที่ดินของราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้ในกิจการของราชการส่วนท้องถิ่น หรือสาธารณะโดยมิได้หาประโยชน์
4) ที่ดินที่ใช้เฉพาะการพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะ
5) ที่ดินที่ใช้เฉพาะศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดไม่ว่าจะใช้ประโยชน์ศาสนกิจ ศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือที่ศาลเจ้าโดยมิได้หาผลประโยชน์
6) ที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถาน สาธารณะโดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
7) ที่ดินที่ใช้ในการรถไฟ การประปา การไฟฟ้า หรือการท่าเรือของรัฐ หรือที่ใช้เป็นสนามบินของรัฐ
8) ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว
9) ที่ดินของเอกชนเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ทางราชการจัดใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยเจ้าของที่ดินมิได้ใช้ หรือหาประโยชน์ในที่ดินเฉพาะส่วนนั้น
10) ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่มีข้อผูกพันยกเว้นตามอนุสัญญาหรือข้อตกลง
11) ที่ตั้งสถานทูต สถานกงสุล
12) ที่ดินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

• หนังสือแสดงการทำประโยชน์ซึ่งออกให้นิคมสหกรณ์ (ก.ส.น. 3 และ ก.ส.น.5)
เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้นิคมสหกรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511การได้สิทธิในที่ดินของสมาชิกนิคมสหกรณ์ การจัดการที่ดินลักษณะนี้ กฎหมายมุ่งที่จะให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินที่ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนดที่ดินหรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว) หรือสิทธิครอบครอง (น.ส.3) เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์นั้น ๆ ปฏิบัติตามกฎหมายไว้ คือ
1) เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์ได้ทำประโยชน์ที่ดินแล้ว
2) เป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
3) ชำระเงินค่าช่วยทุนรัฐบาลเรียบร้อย
4) ชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการเรียบร้อยแล้ว
สมาชิกนิคมสหกรณ์ที่ปฏิบัติครบตามหลักเกณฑ์ ทั้ง 4 ข้อ ดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์จะออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์นั้น ๆ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เมื่อได้รับอนุญาตแล้วสมาชิกนิคมสหกรณ์ผู้นั้นก็สามารถนำหลักฐานดังกล่าวไปออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส. 3 ผู้ได้มาซึ่งที่ดินจะโอนที่ดินไปให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกอยู่ และภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีด้วย

• หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสร้างตนเอง (น.ค.1 และ น.ค. 3)
เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้ในนิคมสร้างตนเองตาม พ.ร.บ. จัดที่ดิน เพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 การได้สิทธิในที่ดินของสมาชิกนิคมสร้างตนเอง เมื่อสมาชิกได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข คือ
1) ต้องเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2) ต้องไม่มีหนี้สินที่เกี่ยวกับกิจการนิคม
3) ชำระเงินค่าช่วยทุนรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว
4) ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 8 ตาม พ.ร.บ จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 สมาชิกสงเคราะห์จะออกหนังสือการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมสร้างตนเอง
• หนังสือแสดงสิทธิทำกิน (ส.ท.ก.)
กรมป่าไม้ได้เริ่มดำเนินการให้สิทธิทำกิน (ส.ท.ก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มานับตั้งแต่ปี 2525 ต่อมาปี พ.ศ. 2528 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 กำหนดให้มีมาตรา 16 ทวิ และมาตรา 16 ตรี ขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีความจำเป็นในการครองชีพ สามารถเข้าทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้โดยไม่เดือนร้อน และโดยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งซึ่งความตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองว่าสิทธิทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้มอบให้กับราษฎรนั้นเป็นไปตามกฎหมาย
การออกหนังสือ ส.ท.ก.
1. การที่จะให้ “ส.ท.ก.” ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใด ๆ กรมป่าไม้จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกไปเดินสำรวจในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น ๆ ว่ามีพื้นที่บริเวณใดที่ยังคงมีสภาพป่าดีอยู่ มีพื้นที่ใดที่ควรสงวนรักษาไว้มีพื้นที่ที่หมดสภาพป่าไปแล้วเป็นสภาพที่มีลักษณะเสื่อมโทรมจำนวนเท่าใด จัดทำแผนที่รายงานต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามประกาศกำหนดให้บริวเณพื้นที่ที่สภาพเสื่อมโทรมดังกล่าวให้เป็น “เขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” แล้วกรมป่าไม้ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อพิจารณาให้สิทธิทำกินต่อไป
2. เมื่อกรมป่าไม้กำหนดที่จะทำการสำรวจสภาพพื้นที่ในเขตป่าใด
2.1 ประชาสัมพันธ์นัดหมายราษฎรพื้นที่มาประชุมฟังคำชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ
2.2 ให้ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินในเขตปรับปรุงป่าสงวนแหงชาติ ยื่นคำขอมีสิทธิทำกิน ตามเวลากำหนด โดยต้องนำบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านไปเป็นหลักฐานด้วย
2.3 เจ้าหน้าที่นัดหมายรษารผู้ยื่นคำขอแต่ละรายมานำสำรวจการถือครอบและตรวจสอบสภาพพื้นที่ หากถูกต้องตามกลักเกณฑ์และข้อกำหนดก็จำทำการรังวัดขอบเขตแปลงที่ดิน พร้อมกับฝังหลักเขตแสงดแนวแปลงที่ดิน
3. หนังสือ “สทก.” ที่มอบให้ราษฎรจะลงนามอนุญาตโดยผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นตั้งอยู่ มีลักษณะดังนี้
แบบที่ 1 เรียกว่า “หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ และอยู่อาศัยภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือแบบ ส.ท.ก.1 ก. เป็นหนังสืออนุญาตให้ครั้งแรก มีอายุการอนุญาต 5 ปี ขนาดเนื้อที่อนุญาตให้ตามที่ครอบครองอยู่จริง แต่ไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตเมื่อครบกำหนดการอนุญาตให้ครั้งแรก จะเปลี่ยนหนังสืออนุญาตตามแบบ ส.ท.ก.2 ก
แบบที่ 2 แบบ ส.ท.ก.2 ก ออกให้สำหรับผู้ที่ได้รับ ส.ท.ก.1 ก มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไข กรมป่าไม้จะออกหนังสือฉบับนี้ให้เพื่อมีสิทธิทำกินในที่ดินเดิมต่อไปซึ่งไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว (โดยจะเรียกเก็บหนังสือ ส.ท.ก.1 ก ด้วย) มีอายุการอนุญาต 5 ปี และต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้อัตราไร่ละ 20 บาท (ต่อหนึ่งคราวการอนุญาต) เมื่อครบกำหนดก็จะมีการพิจารณาต่ออายุให้
แบบที่ 3 เรียกว่า “หนังสืออนุยษตให้ทำการปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือ แบบ ส.ท.ก.1 ข เป็นหนังสืออนุญาตที่ออกให้แก่ราษฎรผู้ที่ได้รับ ส.ท.ก.1 ก หรือ ส.ท.ก.2 ก ที่ครอบครองพื้นที่เกิดกว่า 20 ไร่ และมีความประสงค์จะปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเนื้อที่ไม่เกิน 35 ไร่ ต่อครอบครัว มีอายุการอนุญาตคราวละ 10 ปี และจะต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตในอัตราไร่ละ 20 บาท ทั้งนี้ราษฎรจะต้องปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น เมื่อครบกำหนดเวลาการอนุญาตก็สามารถต่ออายุได้

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้มีสิทธิทำกิน
1. จะต้องเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรมที่กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจพิสูจน์แล้ว
2. เป็นพื้นที่ที่ได้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่แล้ว
3. ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าที่มีสภาพเป็น ต้นน้ำลำธาร ภูเขาสูงชัน หรือมีสภาพที่ควรรักษาไว้
4. ไม่เป็นป่าชายเลน
5. ไม่เป็นพื้นที่ป่าที่ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการป่าไม้
6. ไม่เป็นบริเวณที่มีทิวทัศน์สวยงามอันควรรักษาไว้
7. ไม่เป็นพื้นที่ซึ่งได้ทำการปลูกสร้างสวนป่า หรือได้รับอนุมัติโครงการสำหรับปลูกป่าระยะ 5 ปีไว้แล้ว
คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตมีสิทธิทำกิน
- เป็นบุคคลธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล)
- บรรลุนิติภาวะแล้ว และเป็นหัวหน้าครอบครัว
- เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่ขอมีสิทธิทำกินอยู่แล้วสิทธิ
1. สามารถอยู่อาศัยและทำกินต่อไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยถูกต้องตามกำหมาย
2. สิทธิทำกินตกทอดไปถึงทายาทได้
3. สามารถขออนุญาตทำไม้ที่ได้ปลูกขึ้นภายในที่ดินที่ได้รับอนุญาต (ตามแบบ ส.ท.ก.1 ก หรือ
ส.ท.ก.2 ก หรือ ส.ท.ก.1 ข) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า
4. สามารถขอรับการสนับสนุนเงินทุน ในรูปของสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตร ได้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามโครงการที่กรมป่าไม้ และ ธ.ก.ส. จัดทำขึ้น
หน้าที่
ผู้ที่ได้รับ สทก. ต้องปฏิบัตินั้นคือ ข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขของหนังสืออนุญาตแบบต่าง ๆ ซึ่งปรากฏหลังของหนังสืออนุญาตแบบต่าง ๆ สารสำคัญคือ
1. จะต้องทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับจาก ส.ท.ก. ตามวัตถุประสงค์ที่ขอไว้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และจะให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในครอบครัว เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมิได้
2. ห้ามซื้อ-ขายที่ดิน ส.ท.ก.
3. ห้ามละทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือไม่อยู่อาศัยในที่ดินที่ได้รับ ส.ท.ก.
4. ห้ามบุกรุกแผ้วถางป่าในบริเวณติดต่อใกล้เคียง
5. ให้ความร่วมมือพนักงานเจ้าหน้าที่ มาขอตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขหนังสืออนุญาต ส.ท.ก. หากไม่ปฏิบัติตาม “หน้าที่” หรือ ทำผิด “เงื่อนไข” จะถูกเพิกถอน “สิทธิทำกิน” โดยจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในกรณีใด ๆ มิได้

การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไข ส.ท.ก.
กรมป่าไม้จะส่งเจ้าหน้าที่ออกมาพบประชาชนผู้ได้รับ ส.ท.ก. โดยสม่ำเสมอเพื่อตรวจสอบการใช้ที่ดิน ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่หากถูกต้องก็จะมี “สิทธิทำกิน” ต่อไปเรื่อย ๆ

การดำเนินการในปัจจุบัน
ปัจจุบันกรมป่าไม้ไม่ได้มีการออก ส.ท.ก. เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินก็จะหันไปขอเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. แทน แต่สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิ ส.ท.ก. แต่เดิมอยู่แล้วก็ยังคงมีสิทธิอยู่ตามเดิม

• การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
ความหมายของ “การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” กำหนดไว้ในกฎหมายปฏิรูปที่ดินมาตรา 4 ความว่า “การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวมตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือ มีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น”
การปฏิรูปที่ดินเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรเป็นของ
ตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายตลอดไปตามขนาดและความจำเป็นของเกษตรกรรมนั้น ๆ พร้อมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่ปรับปรุง ก่อสร้างถนน แหล่งน้ำ สาธารณูปโภคต่าง ๆ และส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรเพื่อให้มีรายได้และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ภายใต้ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 จึงเห็นได้ชัดว่าเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นอกจากมุ่งหมายให้เกษตรกรมีความเท่าเทียมกันด้านสิทธิและการถือครองที่ดินแล้วยังให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกรเพื่อให้สามารถดำรงชีพในที่ดินที่ได้รับจากการปฏิรูปที่ดินได้งานหลักของ ส.ป.ก. จึงมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ
1) งานจัดที่ดิน โดยนำที่ดินของรัฐและที่ดินเอกชนมาให้เกษตรกรเช่า เช่าซื้อ
2) งานพัฒนาขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน แหล่งน้ำ เท่าที่จำเป็นในเขตปฏิรูปที่ดิน
3) งานพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกร
“เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรมหรือเป็นบุตรของเกษตรกรบรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเอง และประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามหลักเกณฑ์และ
เงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาด้วย

คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับที่ดิน
ผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยวิธีการปฏิรูปที่ดินจะต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น กล่าวคือ
1. เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มิใช่อาชีพอื่น และต้องไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ
2. เป็นผู้ซึ่งประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ ผู้ที่ยังไม่เป็นเกษตรกร แต่ประสงค์จะเป็นเกษตรกรและมาขอรับการจัดที่ดินโดยจะต้องเป็นผู้ที่ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือเป็นบุตรของเกษตรกร และต้องไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและไม่มีอาชีพอื่น อันมีรายได้ประจำเพียงพอแก่การยังอาชีพอยู่แล้ว

การดำเนินการปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ
การปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ หมายถึง การนำที่ดินของรัฐซึ่งถูกราษฎรบุกรุกถือครองโดยไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย หรือที่ดินที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้มาจัดให้เกษตรกรเข้าทำกินเป็นการถาวรและถูกต้องตามกฎหมาย หรือ การปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ หมายถึง การที่ ส.ป.ก. นำที่ดินของรัฐ ได้แก่ ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวรที่เสื่อมโทรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเลิกใช้ร่วมกัน ที่ราชพัสดุ ที่กระทรวงการคลังให้ความยินยอมแล้ว ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่จำแนกออกจากเขตป่าไม้ถาวร นำมาจัดให้เกษตรกรเช่า เช่าชื้อ เข้าทำประโยชน์ หรือจัดให้โดยมีค่าชดเชย

เอกสารสิทธิประเภทที่ราษฎรทำขึ้นเองแล้วนำไปแจ้งต่อทางราชการ
ซึ่งได้แก่ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งราชการประกาศให้ผู้ครอบครอง และทำประโยชน์อยู่ในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (1 ธ.ค.2497) ไปแจ้งการครอบครองต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน
วิธีการแจ้งนั้น เจ้าของที่ดินจะไปขอแบบพิมพ์ ส.ค. 1 จากพนักงานเจ้าหน้าที่ แบบพิมพ์นั้นจะเป็นแผ่นมีรอยปรุตรงกลางมีข้อความเหมือนกันทั้งสองข้าง เมื่อได้แบบพิมพ์มาแล้วเจ้าของที่ดินจะกรอกข้อความเองเหมือนกันทั้งสองข้างแล้วนำไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่จะลงเลขรับไว้ตามหมู่ที่ ตำบล อำเภอ ที่รับแจ้งลงในทะเบียนการครอบครองที่ดินแล้วตีตราประจำต่อใน ส.ค. 1 ตรงรอยปรุแล้วฉีก ส.ค. 1 ตามรอยปรุเป็น 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเก็บไว้ที่อำเภอ อีกฉบับหนึ่งมอบให้เจ้าของที่ดินไป ส.ค. 1
แต่หลังจากนั้น ก็มีการแจ้ง ส.ค. 1 เรื่อยมา โดยรับแจ้งเนื่องจากได้รับการผ่อนผันแจ้งการครอบครองจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย การผ่อนผันแจ้งการครอบครองได้ดำเนินการมาถึงปี พ.ศ. 2515 จึงยกเลิกมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หลังจากปี พ.ศ. 2515 จึงไม่มีการผ่อนผันแจ้งการครอบครองที่ดิน เว้นแต่บางเรื่องที่ค้างพิจารณาอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ผ่อนผันได้ภายหลังจากนั้น
การแจ้ง ส.ค. 1 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด เดิมใครมีสิทธิอยู่อย่างไร เมื่อแจ้ง ส.ค. 1 แล้วก็คงมีสิทธิอยู่อย่างนั้น กล่าวคือ ถ้าเดิมใครครอบครองทำประโยชน์อยู่ในทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ป่าช้าสาธารณะ หรือป่าสงวน เมื่อแจ้ง ส.ค. 1 แล้วก็ยังเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ป่าช้าสาธารณะ หรือป่าสงวนอยู่เช่นเดิม หรือเดิมเป็นผู้เช่าที่ดินคนอื่นแม้จะนำที่ดินที่เช่าไปแจ้ง ส.ค. 1 ก็ยังคงเป็นผู้เช่าอยู่เช่นเดิม ผู้แจ้งจะอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นใหม่ไม่ได้ และ ส.ค.1 นั้นไม่ใช้เอกสารสิทธิ อันเป็นเอกสารราชการ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำขึ้นจึงเป็นเพียงเอกสารธรรมดา ส.ค.1 มีเพียงสิทธิครอบครอง โอนไม่ได้ (เว้นแต่โอนโดยการส่งมอบการครอบครอง) แต่ ส.ค. 1 นำไปจดทะเบียนจำนองได้ หากแต่ผู้รับจำนองจะต้องเสี่ยงภัยเอาเองในเมื่อถึงกาลบังคับจำนองอาจจะบังคับจำนองไม่ได้โดยเหตุที่กล่าวแล้ว

ภาษีที่ดิน
การลดหย่อน ยกเว้น หรือลดภาษีที่ดิน
1. บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงเดียวหรือหลายแปลงที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน และใช้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของตน เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของตน หรือประกอบกสิกรรมของตน ให้ลดหย่อนจำนวนเนื้อที่ 100 ตารางวา 1 ไร่ 5 ไร่ ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการลดหย่อนไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2525 ลงวันที่ 26 มกราคม และ กฎกระทรวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2525 ลงวันที่ 5 มกราคม 2525 กำหนดท้องที่ชุมชนหนาแน่น มาก ปานกลาง และท้องที่ชนบท ทั้งนี้เฉพาะในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งแต่จังหวัดเดียว ที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นสถานการค้าหรือให้เช่าไม่ได้รับการลดหย่อน กรณีบุคคลธรรมดาหลายคนเป็นเจ้าของร่วม ได้รับลดหย่อนรวมกัน (ม. 22 และข้อ 5 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516))
2. ผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเว้นหรือลดภาษีที่ดินเพาะปลูกตามระเบียบ มท. ส่วนที่ดินสุสานที่ได้รับประโยชน์ตอบแทนอาจยกเว้นให้ตามกฎกระทรวง (ม.23, ม.23 ทวิ)

กระบวนการหรือขั้นตอนของการภาษีที่ดิน
1. ผู้เสียภาษี (รวมทั้งหน้าที่ของเจ้าของที่ดิน)
1) เจ้าของที่ดิน คือ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน (ม.6)
2) เจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคม มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดิน ตามบัญชีอัตราภาษีข้างท้าย (ม. 7)
3) เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ยืนแบบแสดงรายการเป็นรายแปลง (ม.24)
4) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีในเดือนเมษายนของทุกปี หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้ง (ม.35)
5) ผู้ใดไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือเสียเกินรับเงินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันเสียภาษีหรือวันรับแจ้ง (ม.44)
6) เจ้าของที่ดินหรือผู้มีหน้าที่ชี้เขตและแจ้งจำนวนที่ดินตามวันเวลาที่ทำการสำรวจ (ม. 28)

2. การยื่นแบบ
1) เจ้าของที่ดินยื่นแบบเป็นรายแปลง ถ้าไม่ยื่นแบบเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทราบว่ายังไม่ยื่นแบบ และแบบแสดงรายการให้ใช้ได้ทุกรอบ
4 ปี (ม.29, 48 ข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516))
2) ถ้าเจ้าของที่ดินตาย สาบสูญ หรืออื่น ๆ ให้ผู้จัดการหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ปกครองเป็นผู้ยื่น (ม.25)
3) นิติบุคคลให้ผู้จัดการหรือผู้แทนยื่นแบบและเจ้าของที่ดินร่วมรับผิดชอบร่วมกันในการยื่นแบบ (ม.26, 27)
4) การยื่นแบบต่อเจ้าพนักงานประเมินตาม ม.29 (ข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516)
5) เจ้าของที่ดินยื่นแบบเป็นรายแปลงตาม ม. 24, 29 ในเดือนมกราคมของปีแรกที่ตีราคาปานกลางที่ดินตาม ม.16 และให้ใช้ได้ทุกปีในรอบ 4 ปี ยื่นแบบต่อเจ้าพนักงานประเมินตาม ม. 29 (ม.24, 30 และข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3

ปัญหาการถือครองที่ดินในประเทศไทย
การถือครองที่ดิน หมายถึงสิทธิต่างๆอันพึงมีระหว่างผู้ถือครองกับที่ดินที่ถือครอง ซึ่งอาจจะมีฐานะการถือครองแตกต่างกัน เช่น ผู้ถือครองที่ดินมีฐานะเป็นเจ้าของ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น มีฐานะเป็นผู้เช่า มีฐานะเป็นหุ้นส่วน หรือ ถือครองโดยไม่มีสิทธิ์ เป็นต้น ขอบเขตของการถือครองจึงกว้างขวาง มีผลกระทบจะครบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ทำปัญหาที่เกิดจากการถือครองที่ดินจึงมีขอบเขตที่กว้างขวางไปด้วย
ปัญหาการถือครองที่ดินในประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. การไร้กรรมสิทธิ์
2. การไร้ที่ดินทำกิน
3. การเช่าที่ดิน
4. การถือครองที่ดินรายใหญ่
ปัญหาทั้ง 4 ประเภทนี้ เกิดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ จะแตกต่างกันแต่ความรุนแรงของปัญหาแค่นั้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1) การไร้กรรมสิทธิ์
ปัญหาการไร้กรรมสิทธิ์นั้นเป็นปัญหาของราษฎรที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐ ทั้งที่ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรี หรือป่าไม้ถาวร ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่สาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ที่ราชพัสดุ ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดินในโครงการจัดที่ดินของรัฐเป็นต้น ราษฎรเหล่านี้มีสิทธิในการทำกินและการอยู่อาศัย แต่ไร้กรรมสิทธิ์ ตามกฎหมาย
ปัญหาการไร้กรรมสิทธิ์ ของราษฎรที่ทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศปัญหาหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดจากกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการสาขาต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ของประเทศไทยเป็นเวลานานแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
คณะกรรมการศึกษาได้ดำเนินการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (2532) ได้สรุปสภาพปัญหาและสาเหตุของการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ และประชาชนเข้าไปบุกเบิกในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไว้ดังนี้
1. พื้นที่ป่าลดลง ประชาชนเข้าไปบุกเบิกในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมากขึ้นมีผลมาจาก
• เกิดจากการขยายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การตัดถนน การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาจากแผนพัฒนาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-3 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านสังคม ทำให้มีการขยายโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น และมีผลต่อการลดลงของพื้นที่ป่า
• การให้สัมปทานทำไม้ ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง เพราะยังไม่สามารถรักษาป่าโดยการปลูกป่าทดแทน เนื่องจากผู้รับสัมปทานบางรายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการสัมปทานหรือ พยายามหลีกเลี่ยงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัมปทาน นอกจากนี้การนำเอาเครื่องจักร และรถแทรกเตอร์ มาใช้ในการเกษตร ทำให้การบุกเบิกในพื้นที่ป่าเป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น
• การขยายตัวทางเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อการส่งออกทำให้เกิดการขยายพื้นที่ทางการเกษตรมากขึ้น จากการขยายพื้นที่ทางการเกษตรโดยเน้นการส่งออกจึงได้มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (Mono Crop) ทำให้เกิดการทำลายระบบนิเวศ เดิม เมื่อที่ดินและความต้องการผลผลิตมากขึ้นทำให้เกิดการบุกเบิกพื้นที่ป่าไม้เพิ่มเติม
• การขยายพื้นที่ทางการเกษตร อันเนื่องมาจากเกษตรกรหันมาปลูกพืชไร่แทนข้าวเนื่องจากราคาข้าวตกต่ำทำให้มีการบุกรุกที่ดินเพิ่มเติม
• จำนวนประชากรของประเทศเพิ่มขึ้น และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร ทำให้มีการบุกเบิกพื้นที่ป่าไม้สะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกนยังมีราษฎรจำนวนมากยังขาดแคลนที่ดินทำกิน ทำให้มีการบุกเบิกป่าไม้เพิ่ม
• การใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมชนบทของไทยทำให้เกิดความล้มเหลวในการพัฒนาพื้นที่ เกษตรกรบุกเบิกหาพื้นที่ใหม่
• ราษฎรยังไม่มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของทรัพยากรป่าไม้ ทั้งนี้เพราะรัฐได้นำป่าให้เอกชนผู้ลงทุนเข้าใช้ประโยชน์ในรูปของการให้สัมปทานทำไม้
• กระบวนการสอบสวนสิทธิ์ของราษฎรที่ได้ทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ราษฎรดังกล่าวไมได้รับสิทธิเท่าที่ควร
• การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติในอดีต ใช้ผลการจำแนกประเภทที่ดินเป็นหลัก และกำหนดขอบเขตบนแผนที่ เพื่อประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยให้ราษฎรไปแจ้งสิทธิภายใน 90 วัน เพื่อสอบสวนสิทธิ โดยไม่ได้สำรวจประชากรที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่จะประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก่อนประกาศว่ามีจำนวนเท่าใด และอยู่มาก่อนเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ ทำให้การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของราษฎร ควบคู่กับการรักษาป่าไม้ เป็นไปได้ยาก อีกทั้งไม่สามารถจะเตรียมพื้นที่รองรับประชากรได้แน่นอนในกรณีต้องอพยพ
• ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นเข้าไปมีบทบาทเหนือราษฎร ในท้องที่ที่ด้อยโอกาสกว่า และราษฎรซึ่งสูญเสียสภาพการครอบครองในที่ผืนเดิม ทำให้ต้องมีการบุกเบิกที่ดินผืนใหม่ เพื่อการยังชีพ หรือเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้มีอิทธิพล ทำให้อัตราการขยายพื้นที่เข้าไปในป่ามีมากยิ่งขึ้น
2. นโยบายป่าไม้แห่งชาติบางส่วนยังไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน
2.1 มาตรการป่าไม้ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534) กำหนดให้สนับสนุนและส่งเสริมบทบาทเอกชนและประชาชนในท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพ และประหยัด แต่นโยบายป่าไม้แห่งชาติกำหนดให้มีการพัฒนาด้านป่าไม้ โดยส่งเสริมการปลูกป่าภาคเอกชนโดยไม่เน้นประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและปัญหาที่ดินทำกิน
2.2 นโยบายป่าไม้แห่งชาติส่งเสริมการปลุกป่าภาคเอกชน โดยให้เอกชนดำเนินการกับผู้อยุ่ในป่านั้นเอง จึงทำให้เกิดกรณีพิพาทกับราษฎร
3. การกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติ และการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนที่ทำกินของราษฎร โดยราษฎรได้อาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว เนื่องจากการออกกฎกระทรวงกำหนดเขตแนวป่าสงวนแห่งชาติ ต้องใช้ผลการจำแนกที่ดินเป็นหลักยังมีข้อบกพร่อง เนื่องจากการไม่ได้ทำการสำรวจประชากรที่ครอบครองที่ดินหรือสำรวจสิทธิ์ของบุคคลว่ามีอยู่ก่อนประกาศแนวเขตหรือไม่
4. การกว้านซื้อสะสมที่ดินเพื่อเก็งกำไร เพื่อทำให้การรุกล้ำขยายเข้าไปในพื้นป่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งสืบเนื่องมาจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2502 ได้ยกเลิกการกำหนดสิทธิ์ในที่ดินตามหมวดที่ 3 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
5. หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการทรัพยากรไม่ได้ประสานงานกันเท่าที่ควร เนื่องจากอำนาจการจัดการทรัพยากรขึ้นอยู่กับต่างหน่วยงาน ซึ่งต่างก็ยึดกฎหมายของหน่วยงานของตนและมติคณะรัฐมนตรีให้อำนาจหน่วยงานตนเท่านั้น เช่น หน่วยงานหนึ่งประกาศให้เขตป่าอนุรักษ์เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ชั้น 1 A แต่อีกหน่วยงานหนึ่งให้ใบอนุญาติให้มีการสัมปทานทำแร่ในพื้นที่เดียวกัน หรือกรณีที่ราษฎรเข้าอยู่อาศัยทำประโยชน์ในเขตป่าสงวน ซึ่งกรมป่าไม้ถือว่าบุกรุกป่าสงวนแต่มีหน่วยงานอื่นของรัฐเข้าไปจัดเก็บภาษี (ภ.บ.ท.6) ให้ทะเบียนบ้าน ตั้งโรงเรียน วัด และสถานีอนามัย
6. การควบคุมดูแล ป้องกัน และรักษาป่าไม้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยมีสาเหตุดังนี้
• การกำหนดแนวเขตพื้นที่แต่ละประเภทยังไม่ชัดเจนเพียงพอ
• ยังไม่เห็นความสำคัญต่อบทบาทของราษฎรในการร่วมดูแล และรักษาป่าเท่าที่ควร
• จำนวนเจ้าหน้าที่และงบประมาณไม่เพียงพอ
7. การลดลงของจำนวนพื้นที่ป่าชายเลน มีสาเหตุดังนี้
• เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามชายฝั่ง
• รัฐมีนโยบายการปกป้องรักษาป่าชายเลน แต่มาตรการการปฏิบัติยังไม่มีประสิทธิภาพ
ในขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐ คือกรมป่าไม้ (2538) ได้สรุปประเด็นปัญหาของป่าไม้ไว้ดังนี้ “ปัญหาของการป่าไม้เป็นปัญหาเรื้อรังซึ่งเกี่ยวข้องทางตรงและทางอ้อมกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงของชาติ ประเด็นปัญหาพื้นฐานของการป่าไม้มี 3 ประการ คือ
• ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้อย่างต่อเนื่อง
• ปัญหาความต้องการไม้เพื่อใช้สอยและเพื่ออุตสาหกรรมป่าไม้ ไม่ได้รับการสนองตอบอย่างต่อเนื่องและพอเพียง
• ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ที่เป็นไปอย่างรุนแรง และกว้างขวาง”
ความขัดแย้งในแนวคิดแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าไม้
แนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินป่าไม้จากอดีตถึงปัจจุบันสรุปได้ 4 ประการคือ
• ไม่เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ แต่แก้ไขโดยให้สิทธิทำกิน
• ไม่เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ แต่แก้ไขโดยการให้เช่าที่ดินทำกินหรือปลูกป่า
• ให้เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติที่มีคนอยู่อาศัยและทำกินมาเป็นเวลานานและออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินให้
• การเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติเพื่อนำมาปฏิรูปที่ดินเท่านั้น
แนวคิดในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในอดีตมีหลายประการ เช่น การจัดตั้งหมู่บ้านป่าไม้ โครงการสิทธิทำกิน(สทก.) การปลูกป่าโดยเกษตรกรรายย่อย ดครงการจัดที่ดินให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้ (คจก.) ป่าชุมชน รวมถึงการปฏิรูปที่ดิน
ในปี พ.ศ.2536 กรมป่าไม้ได้ส่งมอบพื้นที่ป่าไม้จำนวน 44.28 ล้านไร่ ให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้แก่ราษฎรที่บุกรุกทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การส่งมอบพื้นที่ป่าไม้ที่มีราษฎรบุกรุกเข้าทำกินอยู่แล้ว จึงเป็นการแก้ไขปํญหาการบุกรุกป่าไม้ ได้ในระยะหนึ่ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานความก้าวหน้า ผลการดำเนินงานในการรักษาทรัพยากรป่าไม้ว่า มีพื้นที่ป่า ที่มีชุมชนอยู่อาศัย ดังนี้


จะเห็นได้ว่าการบุกรุกป่าไม้เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยที่การแก้ไขยังใช้แนวทางเดิม ที่มีแนวโน้มว่าผู้บุกรุกจะสามารถอยู่อาศัยและทำกินในที่บุกรุกได้
อย่างไรก็ตามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไว้คือ 128 ล้านไร่ หรือร้อยละ 40 ของประเทศ โดยมีภารกิจ 2 ประการ คือ 1) ดูแลรักษาพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ 104.7 ล้านไร่ และ 2 ) เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 128 ล้านไร่

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐและการทำลายทรัพยากรป่าไม้เมื่อวันที่ 14 พฤกษภาคม พ.ศ.2551 ดังนี้
1. มาตรการ
• มาตรการที่จะต้องคงพื้นที่ป่าไม้และที่ดินของรัฐที่มีอยู่ไม่ให้มีการบุกรุกที่ดินเพิ่มขึ้น
• มาตรการที่ต้องนำพื้นที่ป่าไม้ และที่ดินของรัฐที่ถูกบุกรุกกลับคืนให้กับแผ่นดิน ซึ่งหากสภาพที่รับกลับมาได้รับความเสียหายก็ต้องดำเนินการฟื้นฟูให้ดีที่สุด
2. แนวทาง
• ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจะแบ่งภารกิจในรูปแบบของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เช่น อนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎฤหมาย ก็มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นเจ้าภาพเป็นต้น
• ให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกที่ดินของรัฐและทรัพยากรป่าไม้ ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี ต่างๆที่มีอยู่โดยเคร่งครัด โดยต้องมีแผนปฏิบัติที่ชัดเจน มีการกำหนดระยะเวลากำกับ และมีผู้รับผิดชอบที่แน่นอน และร่วมทบทวนนโยบายที่เคยกำหนดไว้ กำหนดสภาพปัญหาจากการออกนโยบายดังกล่าว พร้อมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม
• หน่วยงานที่เป็นเจ้าของที่ดินของรัฐและหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ป่าไม้ ให้สำรวจพื้นที่ในความรับผิดชอบทั้งที่มีหลักฐานแสดงเขตที่ดิน และที่ไม่มีหลักฐาน จากนั้นให้กำหนดเขตที่ชัดเจนและนำไปกำหนดเขตในแผนที่ระวางรูปถ่ายทางอากาศของสำนักงานที่ดิน
• กรณีที่มีบุคคลอื่นเข้ายึดถือครอบครองในที่ดินของรัฐหรือพื้นที่ป่าไม้ ให้ทำการพิสูจน์สิทธิของบุคคลที่เข้ายึดครอง หากพบว่ารัฐมีสิทธิที่ดีกว่าก็แจ้งให้ผู้ครอบครองออกจากพื้นที่ หากไม่ยินยอมก็ให้ดำเนินการด้วยการบังคับใช้กฎหมายต่อไป สำหรับกรณีที่บุคคลเข้ายึดและครอบครองมีสิทธิที่ดีกว่า ก็ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดแนวเขตการครอบครองของบุคคลดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการบุกรุกที่ดินเพิ่มเติม และกำหนดเงื่อนไขของการครอบครองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
• พื้นที่ป่าไม้ที่อยู่นอกเขตสงวนหวงห้าม เช่น พื้นที่ป่าชายเลน และพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองและเห็นสมควรที่จะสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติ ควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนด พื้นที่ที่ควรสงวนด้วย และนำไปกำหนดเขตในแผนที่ระวางรูปถ่ายทางอากาศของสำนักงานที่ดิน
• หากทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าของที่รัฐและดูแลพื้นที่ป่าไม้ ไม่สามารถรักษาที่ดินของรัฐที่ตนดูแล หรือไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าไม้ให้คงอยู่ได้ จะต้องมีบทลงโทษกับเจ้าหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบ และดูแล
• ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดำเนินการปราบปรามผู้ที่บุกรุกที่ดินของรัฐ และพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงข้าราชการที่ทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด และส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอนเอาที่คืนแผ่นดินต่อไปอย่างเร่งด่วน โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนกระบวนการพิสูจน์สิทธิ จะต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
• มาตรการที่เกิดจากการระดมความคิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเห็นว่าเป็นมาตรการที่ทำให้นโยบายของรัฐทั้ง 2 มาตรการสัมฤทธิ์ผลแล้ว จะต้องหาแนวทางที่สามารถดำเนินการให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ ของหน่วยงานใดก็ตาม
• ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประชุม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กำชับถึงการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะเจ้าพนักงานรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลพื้นที่สาธารณะ และสงวนหวงห้ามต่างๆ หากพบว่าผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือให้ความสะดวกกับผู้ที่บุกรุกที่ดินของรัฐ และที่สงวนหวงห้ามจะต้องถูกดำเนินคดีทางอาญา และทางปกครองอย่างเฉียบขาด (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2551)
อย่างไรก็ตามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนและมาตรการการป้องกันรักษาป่าและฟื้นฟูสภาพป่า (พ.ศ. 2551-2555) ขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2550 โดยมีพื้นที่เป้าหมายและมาตรการดังนี้
1. พื้นที่เป้าหมาย แยกเป็น 76 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
• จังหวัดที่มีความสำคัญเฉพาะด้านในแง่การเป็นมรดกโลก 7 จังหวัดได้แก่ อุทัยธานี กาญจนบุรี นครนายก นครราชสีมา สระบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว
• จังหวัดที่มีความสำคัญในแง่ของการเป็นพื้นที่ป่าชายเลน 24 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครสรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
• จังหวัดที่มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้รุนแรง 20 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ลำปาง น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ยะลา หนองบัวลำพู ตาก ขอนแก่น สกลนคร พะเยา พิษณุโลก อุบลราชธานี แพร่ เชียงราย กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุตรดิตถ์ หนองคาย และ เลย
• จังหวัดที่มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้รองลงมา จำนวน 19 จังหวัด ประกอบไปด้วย บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครพนมชัยภูมิ อำนาจเจริญ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ลำพูน ราชบุรี ร้อยเอ็ด สุพรรณบุรี กำแพงเพชร มุกดาหาร ยโสธร มหาสารคาม นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี และพิจิตร
• จังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่า แต่ต้องควบคุมการอนุญาตไม้ 6 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี อ่างทอง สิงห์บุรี และนครปฐม
2. มาตรการ แยกออกเป็น 3 ระยะ
2.1, มาตรการระยะเร่งด่วน (พ.ศ.2551)
• การบริหารด้านการป้องกันรักษาป่า โดยปรับปรุงคณะกรรมการชุดเดิม เป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.) และคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด (คปป.จ)
• การป้องกันรักษาป่า โดยสนธิกำลังลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติงานการข่าว และจิตวิทยาเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการแก้ไขปัญหาไฟป่า
• การสร้างเครือข่ายประชาชนมีส่วนร่วม โดยฝึกอบรมเยาวชนรักษาป่า (ยชป.) ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)
• การควบคุมความต้องการการใช้ไม้ โดยควบคุมการแปรรูปไม้ การเคลื่อนที่ไม้และของป่า และการจำกัดโรงงานแปรรูปให้เหมาะสม
2.2 มาตรการระยะปานกลาง (พ.ศ.2552-2553) ประกอบไปด้วย 5 มาตรการ คือ
• การเฝ้าระวังและติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าไม้ โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ติดตามตรวจสอบ วิเคราะห์ แปลตีความพื้นที่ป่าไม้
• การมีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาป่าของประชาชน โดยฝึกอบรมราษฎรในการสืบหาข่าว และเฝ้าระวัง รวมทั้งการรณรงค์ปลูกจิตสำนึก
• การสร้างสมดุลระหว่างพื้นที่ที่ถูกบุกรุกและการปลูกทดแทน โดยการปลูกฟื้นฟูป่าในทันทีในพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลาย และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
• การควบคุมการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ โดยการติดตามการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ของส่วนราชการและเอกชน
• Village Profile / การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม โดยสำรวจข้อมูลชุมชนเพื่อจัดทำฐานข้อมูลพร้อมระบบเชื่อมโยง
2.3 มาตรการระยะยาว (พ.ศ.2552-2555) ประกอบไปด้วย 4 มาตรการ คือ
• การปลูกฟื้นฟูสภาพป่า โดยปลูกฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่เสื่อมโทรมและปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริ
• การประเมินผลการปลูกป่า โดยประเมินผลสำเร็จและความคุ้มค่าของการปลูกป่าที่ผ่านมาเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
• การแก้ไขปัญหาชุมชนด้านการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ โดยเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมือ่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2541 ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
• การปรับปรุแนวเขตที่ดินของรัฐ (Reshape) โดยปรับปรุงแนวเขตให้ชัดเจนและถ่ายทอดบนภาพถ่ายทางอากาศ มาตราส่วน 1 : 4000

ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการป้องกันการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ และพื้นที่ป่าไม้ของชาติ โดยวิธีการต่างๆก็ตาม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันว่าเกิดจากประเด็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานต่างๆ มีความแตกต่างกัน มาตรการที่นำออกมาใช้ มีจุดบกพร่องหรือจุดอ่อน ระบบแผนที่แตกต่างกันทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน ไม่มีการขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ ขาดการดูแลรักษาป่าอย่างจริงจัง แนวเขตที่ดินประเภทต่างๆไม่ชัดเจน ปัญหาเกิดจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) นโยบายของรัฐขาดเอกภาพ เป็นต้น

สถานการณ์ปัจจุบัน
จากการขึ้นทะเบียนคนจนของรัฐบาลในเดือน มกราคม – มีนาคม พ.ศ.2547 พบว่ามีราษฎรที่มีที่ดินทำกินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิอยู่ในเขตป่าสงวนและป่าไม้ถาวรรวม 149,377 ราย พื้นที่รวม 2,390,379 ไร่ และราษฎรที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวรต้องการที่ดินเพิ่ม มีจำนวน 45,321 ราย ต้องการที่ดินเพิ่ม 586,007 ไร่
ในปีพ.ศ.2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการ 3 โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยระบุถึงจำนวนผู้ที่เข้าอยู่อาศัยและทำกิน และเนื้อที่ไว้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ดังนี้
1. โครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2551-2552 มีเป้าหมาย 232, 000 ราย ซึ่งถือครองพื้นที่ป่าไม้จำนวน 3,340,000 ไร่
2. โครงการทรัพยากรดิน และป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พ.ศ.2551-2552 จากการสำรวจการถือครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (พ.ศ.2542-2549) จำนวน 157 พื้นที่มีราษฎรถือครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจำนวน 122,583 ราย 153,441 แปลง เนื้อที่ 1,485,393 ไร่
3. โครงการสำรวจข้อมูลการปลูกไม้ยางพารา ของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พ.ศ. 2551 จะดำเนินการสำรวจการถือครองและพื้นที่ปลูกไม้ยางพาราในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งประเทศ ในเขตอุทยานแห่งชาติ 52 แห่ง เนื้อที่ 1,236,330.35 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 666,100.14 ไร่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 129,806.14 ไร่ และเขตวนอุทยาน 12,933.67 ไร่ รวมเนื้อที่สวนยางพาราในเขตป่าอนุรักษ์ ทั้งสิ้น 2,045,170.30 ไร่
รวมทั้งสองโครงการคือ โครงการที่ 1 และโครงการที่ 2 มีราษฎรถือครองโดยไร้กรรมสิทธิ์อยู่จำนวน 354,583 ราย ภายใต้สถานการณการบุกรุกพื้นที่ดินของรัฐ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องดังที่กล่าวมานี้จะส่งผลกระทบต่อการวางแผนการถือครองที่ดิน ในด้านการจำแนก ประเภทที่ดินที่กำหนดเป้าหมายที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศระยะยาว หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สาธารณะได้ การวางแผนการถือครองที่ดินก็ไม่อาจจะดำเนินการให้มีประสิทธิภาพได้

2) การไร้ที่ดินทำกิน
ข้อมูลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507-2509) ได้ระบุว่า “กรมที่ดินได้ทำการสำรวจจำนวนประชากรที่ได้มีอยู่เป็นหลักแหล่ง และเช่าที่ดินของคนอื่นทำมาหาเลี้ยงชีพทั่วราชอาณาจักร ปรากฏว่าประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านราย “(สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ,2503) และจากข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้านในชนบท ปี พ.ศ. 2530 ของศูนย์ประสานการพัฒนาชนบทแห่งชาติ พบว่า มีครัวเรือนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องเช่าที่ดินทั้งหมดจำนวน 572,755 ครัวเรือน ในปี 2535 ข้อมูลจาก กชช. ค. พบว่า ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินของตนเองมีทั้งหมด 538,470 ครัวเรือน (สำนักงบประมาณ , 2537 ) และเพิ่มขึ้นเป็น 546,942.ในปี 2542 ดังตาราง

จากการขึ้นทะเบียนคนจน ในปี พ.ศ. 2547 พบว่าผู้มาลงทะเบียน เป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกิน รวม 1, 303,360 ราย เป็นผู้เช่าที่ดิน 678,077 ยืมผู้อื่น 314,090 ราย และเป็นผู้รับจ้างทำการเกษตร จำนวน 311,193 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ ต้องการหาที่ดินทำกินเพิ่มอีก 1,651,922 ราย รวมทั้งสองกรณี จำนวน 2,955,282 ราย
3) การเช่าที่ดิน
การเช่าที่ดิน ได้ดำเนินการในประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน นับแต่การขุดคลองรังสิตในทุ่งราบภาคกลางของประเทศไทย โดยคลองรังสิต เป็นคลองที่ขุดโดยบริษัทขุดคูคลองแลคูนาสยาม ในปี พ.ศ. 2431 (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , 2525) โดยได้รับสัมปทานตลอดระยะเวลา 25 ปี เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำนครนายก ภายหลังการขุดคลองรังสิตและคลองซอยต่างๆ เสร็จสิ้นลงได้เพิ่มพื้นที่ทำนา ได้มีการตื่นตัวในการจับจองที่ดิน ตลอดจนซื้อจากบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 (ร.ศ.120) รัฐบาลได้จัดตั้งหอทะเบียนที่ดินขึ้น เพื่อดำเนินการเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
การขุดคลองรังสิตและคลองซอยต่างๆ ทำให้ที่ดินบริเวณทุ่งรังสิตมีการซื้อขายในราคาที่แพงขึ้น จากราคาไร่ละ 4 บาท ในปี พ.ศ. 2443 เป็นไร่ละ 200 บาท ในปี พ.ศ. 2450 การเช่าที่ดินในเขตทุ่งรังสิตมีผู้เช่ามากกว่าร้อยละ 90 อัตราค่าเช่านาก่อนปี พ.ศ.2448 ประมาณร้อยละ 12-24 ของผลผลิตต่อไร่ ได้เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 37-54 ของผลผลิตต่อไร่ ในปี 2448 และจำนวนชาวนาที่ไม่มีที่ดินของตนเอง มีจำนวนถึงร้อยละ 36 (สุภาภรณ์ จรัลพัฒน์, 2522)
จากการพัฒนาทุ่งรังสิตดังกล่าวมานี้ มีผลกระทบด้านสังคมตามมา โดยมีปัญหาที่ดินเกิดขึ้นทั้งการถือครองและกรรมสิทธิ์ที่ดิน จะเห็นได้ว่ามีการลงทุนในธุรกิจที่ดิน จนมีนายทุนที่ดินและผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ จำนวนมาก ที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและดูเหมือนว่าจะเป็นอาชีพที่มั่นคง ดังทรรศนะของกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ที่ว่า “จากการที่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและได้มีโอกาสร่วมในธุรกิจประเภทต่างๆด้วยตนเองแล้ว ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปที่ว่ากิจกรรมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับขุนนางที่ต้องการยึดอาชีพมาเลี้ยงชีวิต หรือเพื่อลงทุนนั้น ยากจะหาอะไรดีไปกว่ากิจการด้านที่ดิน และผลประโยชน์จากที่ดิน นั้นจะหาอะไรดีไปกว่าการเช่าที่ดินแก่ชาวนาเป็นไม่มี (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ, 2524)
4) การถือครองที่ดินรายใหญ่

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ที่ดิน




“ที่ดิน” เป็นอสังหาริมทรัพย์พื้นฐานที่จัดว่าสำคัญที่สุดเพราะเป็นรากฐานของอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ทุกประเภท เช่น บ้าน สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ และทรัพยสิทธิอื่น ๆและยังเป็นสินทรัพย์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ผลิตอาหาร ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ใช้สร้างที่อยู่อาศัย สร้างอาคาร สร้างสำนักงานและโรงงาน เป็นต้น

รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมักถือว่าที่ดินเป็นสินทรัพย์พื้นฐานของประชาชนและของประเทศ คนที่ถือครองที่ดินมาก ๆ หรือทำธุรกรรมที่ดินย่อมเป็นผู้มีอันจะกิน นอกจากนี้ยังถือว่าที่ดินเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศอย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน และป้องกันไม่ให้ที่ดินของประเทศตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติ รวมทั้งมีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมจากคนที่ถือครองและทำธุรกรรมที่ดินเพื่อหารายได้เข้าประเทศ

ลักษณะพิเศษของที่ดิน เช่น
- เคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนไม่ได้
- ที่ตั้งเฉพาะ
- ทำลายไม่ได้
- มีจำนวนจำกัดและนับวันจะหายากมากขึ้น เพราะพื้นที่จะมีอยู่เท่าเดิมขณะที่ประชากรของประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ความต้องการที่ดินก็ย่อมเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปด้วย
- อายุยาวนาน ใช้ประโยชน์สืบทอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยเฉพาะหากรู้จักวิธีอนุรักษ์ดิน

จากการเติบโตของเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้ความต้องการ “ที่ดิน” ย่อมเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้เป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพของประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม จึงก่อให้เกิดการบุกรุกที่ดินของรัฐ เพื่ออยู่อาศัยและประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น

ที่ดิน เป็นสินทรัพย์ที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถพบได้ในสินทรัพย์ประเภทอื่นเพราะมีอยู่จำกัด เคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนไม่ได้ ขณะเดียวกันก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง สำหรับในทางการเงินแล้ว “ที่ดิน” จัดเป็นสินทรัพย์พิเศษที่มีสถานะเป็นทั้งสินทรัพย์แท้จริง ( Real Asset ) และสินทรัพย์ทางการเงิน ( Financial Asset ) เพราะขณะที่เป็นสิ่งที่จับ
ต้องใช้ประโยชน์ได้แต่ก็มีโฉนดซึ่งถือเป็นตราสารทางการเงินไว้ใช้สำหรับซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ดังนั้นจึงมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน และป้องกันไม่ให้ที่ดินของประเทศต้องตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติ รวมถึงยังมีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมจากคนที่ถือครองและทำธุรกรรมที่ดิน เพื่อหารายได้เข้าประเทศ ด้วยเหตุเหล่านี้
การดำเนินธุรกรรมที่ดินทุกประเภทจึงเกี่ยวพันโดยตรงกับความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องคุณลักษณะพิเศษต่าง ๆ ของที่ดิน รวมถึงแง่มุมในทางกฎหมายที่มีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก